ประวัติวัดนางสาว


        ประวัติความเป็นมาของวัดนางสาวนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับตำบลท่าไม้ เพราเหตุที่ตำบลท่าไม้เป็นตำบลเก่ามีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรื่องราวในประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตำบล ท่าไม้ เป็นตำบลหนึ่ง ในเขตเมืองสาครบุรี คือ จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน เป็นเมืองชายทะเลตอนใต้ ของกรุงศรีอยุธยา ได้มีชาวไทยกลุ่มหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามมาถึงวัดร้างที่ริมแม่น้ำ คือแม่น้ำท่าจีนใน ปัจจุบัน บังเอิญมีทหารลาดตระเวนของพม่าผ่านมา จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น บรรดาชายฉกรรจ์ต่างพากันร่วมใจ ต่อสู้ ส่วนคนชรา ผู้หญิงและเด็กๆ ต่างพากันหาที่หลบซ่อน ในบริเวณนั้นปรากฏว่ามีโบสถ์เก่าๆ อยู่หลังหนึ่ง จึงได้วิ่งเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ และในจำนวนนั้นมีหญิงสาว 2 คน มีความกลัวมาก จนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ตัวเองพ้นภัยในครั้งนี้ ทั้ง 2 สาวพี่น้องจึงพากันตั้งจิตอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่นั้นว่า ถ้ารอด พ้นภัยอันตรายคราวนี้ได้ จะช่วยกันบูรณะซ่อมแซมโบสถ์หลังนี้ให้ดีขึ้นพร้อมกับจะสร้างวัดขึ้นใหม่ให้ด้วย

         เป็นที่ประหลาดใจว่า พอสิ้นคำอธิษฐานเท่านั้น เสียงของการต่อสู้ก็ได้ยุติลง หญิงสาวทั้งสองและผู้ที่ หลบซ่อนอยู่รอจนแน่ใจว่าพวกพม่าไปหมดแล้ว จึงได้พากันออกมาจากที่หลบซ่อน ต่อมาได้สร้างบ้านเรือน อาศัยอยู่ที่บริเวณนั้น เมื่อหญิงสาวทั้งสองได้ทำมาหากินจนมีหลักฐานมั่นคงแล้ว หญิงสาวผู้น้องจึงคิด ที่จะทำตามคำอธิษ-ฐานไว้คือ จะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์เก่าที่เคยเข้าไปหลบภัยแต่คราวก่อน แต่หญิงสาวผู้พี่คัดค้านว่า โบสถ์หลังเก่านั้นเก่าแก่และชำรุดทรุดโทรมมาก คงจะบูรณะซ่อมแซมยาก ควรจะหาที่ใหม่ทำการ ก่อสร้างโบสถ์และวัดขึ้นใหม่จะดีกว่า แต่น้องสาวยังคงยืนยันที่จะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์เก่าเหมือนเดิม เมื่อพี่น้องทั้งสองมีความเห็นแตกต่างกัน จึงเป็นอันว่าโบสถ์หลังเก่านั้นคงสภาพทรุดโทรมอย่างเดิมมิได้บูรณะ ซ่อมแซม
         
         ต่อมาหญิงสาวผู้พี่ได้แต่งงานกับเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งในละแวกนั้น และได้ย้ายไปอยู่บ้านสามีไปประกอบอาชีพในหมู่บ้านที่อยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อย และทั้งสองสามีภรรยาก็ได้สร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่งให้ชื่อว่า วัดกกเตย ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะว่าถูกกระแสน้ำพัดจนที่ดินที่สร้างวัดนั้นพังลงไปในแม่น้ำหมด ฝ่ายหญิงสาวผู้น้องยังคงครองตัวเป็นโสดตลอดมาและได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ยอมแต่งงาน จนกว่าจะได้บูรณะซ่อมแซมโบสถ์หลังเก่านี้ จนสำเร็จเรียบร้อยพร้อมกับสร้างวัดขึ้นมาใหม่ให้จงได้ จากนั้นหญิงสาวผู้น้องก็ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโบสถ์และสร้างวัดขึ้นมาจนสำเร็จ ชาวบ้าน จึงพร้อมใจกันให้ชื่อวัดว่า "วัดพรหมจารีราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หญิงสาวผู้น้อง แต่คนส่วนใหญ่มักนิยมเรียกกันว่า "วัดน้องสาว" ต่อมาคำที่เรียกว่า วัดน้องสาวได้กลายเป็น "วัดนางสาว" จนกระทั่งปัจจุบัน

โบสถ์วัดนางสาวที่กล่าวมานั้น เป็นโบสถ์โบราณที่มีลักษณะแปลกกว่าโบสถ์อื่นๆ คือ เป็นโบสถ์มหาอุตม์ มีประตูเข้า-ออกเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา พัทธสีมาเป็นสองชั้น ไม่ปรากฏว่าได้ก่อสร้างขึ้นมาสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นมาในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้นโบสถ์มหาอุตม์ เป็นโบสถ์เก่าแก่ตั้งสมัยอยุธยาต้อนต้น ที่มีอายุมากว่า ๔๐๐ ปี นับเป็นโบสถ์ที่มีเหลือให้เห็นอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ในประเทศไทย และโบสถ์มหาอุตม์ที่วัดนางสาวแห่งนี้ยังมีความสมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

ภายในโบสถ์มหาอุตม์ ยังมีพระประธานคือ "หลวงพ่อมหาอุตม์" ประดิษฐานอยู่คู่กับโบสถ์มหาอุตม์มาโดยตลอด ลักษณะของโบสถ์ถูกสร้าง ขึ้นมาอย่างง่ายๆ มีประตูทางเข้าออกประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง แต่ไม่ก่อให้เกิดความร้อน อับ หรือมืดแต่อย่างใด ยังคงได้รับแสงสว่างจากแสงสะท้อน ของพระอาทิตย์ เมื่อกระทบกับผิวน้ำผ่านเข้ามาทางประตูโบสถ์ และยังมีแสงสว่างผ่านเล็ดลอดลงมาจากช่องระหว่างกระเบื้องของหลังคาโบสถ์ ทั้งหมดที่ กล่าวมานี้เป็นผลงานจากฝีมือและมันสมองของช่างไทยในสมัยโบราณทั้งสิ้น

"สาเหตุที่ต้องสร้างแบบนี้ เนื่องมาจากว่า ในสมัยก่อนนั้นไม่มีวัสดุให้เลือกมากนักเหมือนในปัจจุบัน จึงต้องใช้อิฐมาก่อแล้วเอาเสาไม้มาทำเป็น รูปจั่ว รูปคาน ไม่ได้มีรูปแบบอะไรมากนัก มีเพียงประตูเข้าออกทางเดียว ไม่มีหน้าต่าง อย่างที่เห็นนี่แหละ แต่ก็ไม่เคยสร้างความอึดอัดให้แก่พระสงฆ์ ที่เข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาเลย จะรู้สึกมืดก็ตอนที่เข้ามาใหม่ ๆ เท่านั้น อีกสักพักก็จะชินกับแสงที่ส่องเข้ามาเอง"

อาจารย์ชัย (เจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ยังกล่าวต่อไปอีกว่า "โบสถ์มหาอุตม์อย่างนี้ แม้แต่ในประเทศอินเดียเมืองที่เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา ยังไม่มีโบสถ์มหาอุตม์ที่สมบูรณ์อย่างนี้ให้เห็น จะมีก็เป็น เพียงรากฐานให้เห็นพอรู้ว่าที่นี่เคยเป็นโบสถ์มาก่อนเท่านั้นเอง"
เมื่อเข้าไปภายในโบสถ์มหาอุตม์จะรู้สึกได้ถึงความเย็นสบายจากพื้น และผนังหินอ่อนที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พร้อมกับการบูรณะหลวงพ่อดำขึ้นใหม่อีกครั้ง นอกจากนั้นยังได้เห็น พระพุทธรูปในรูปแบบศิลปะพม่าในปางต่าง ๆ ที่งดงาม และยังพบความสวยสว่างของโคมไฟคริสตรัลที่ห้อยระย้าเพิ่มความสว่างให้แก่โบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้อีกด้วย

โบสถ์มหาอุตม์ที่คงความเก่าแก่มานานหลายชั่วอายุคนแห่งนี้เมื่อผ่านระยะเวลามานานย่อมต้องมีเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมา โดยเฉพาะเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความอัศจรรย์แก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับวัด เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจารย์ชัยได้เล่าว่า "เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งวัดนางสาวเองก็ถูกน้ำท่วมด้วย แต่ที่น่าประหลาดก็คือ บริเวณโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีนไม่ถูกน้ำท่วม เมื่อมองดูจะเห็น ตัวโบสถ์อยู่เหนือน้ำ ชาวบ้านจึงได้พูดกันว่าโบสถ์ลอยน้ำได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับส่วนที่ถูกน้ำท่วมทั่วๆ ไป นั่นก็คือเรื่องที่เล่าลือต่อๆ กันมา" นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องที่เล่าถึงทหารพม่าที่เคยมาตาย ที่โบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้ด้วย เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า "สมัยที่ไทยรบกับพม่านั้น ได้มีทหารพม่าหลบหนีเข้ามาในวัดแล้วถูกควายขวิดตายติดผนังโบสถ์ จนเกิดร่องรอยเป็นรูปคนยืนพิงโบสถ์ติดอยู่นานหลายปี แม้ว่าจะมี การฉาบและทาสีผนังใหม่หลายครั้งก็ตาม ก็ยังคงปรากฏล่องลอยให้เห็น จนเมื่อได้รับการบูรณะใหม่ในครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้ คือการบุผนังด้วยหินอ่อนและปูพื้นใหม่ รอยรูปคนจาง ๆ บนผนังจึงหายไป"

วัดนางสาว ไม่ได้มีเพียงโบสถ์มหาอุตม์ที่เก่าแก่เพียงอย่างเดียวแต่ยังมี "หลวงพ่อดำ" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ศูนย์จิตใจของชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งมีชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรและบนบานอยู่ทุกวัน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้เชื่อถือและศรัทธาต่อหลวงพ่อดำ จนได้มีการร่วมทำบุญสร้างวิหาร เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อดำอย่างที่อยู่ในปัจจุบันคู่กับวิหาร "หลวงพ่อป่าเลไลย์" อีกด้วย

หลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี เมื่อครั้งก่อนนั้นสมัยที่หลวงพ่อแก้วเป็นเจ้าอาวาสได้เล็งเห็นว่าโบสถ์นี้ อยู่ใกล้แม่น้ำมาก ตรงบริเวณโค้งน้ำพอดี เกรงว่าจะตกแม่น้ำ จึงคิดจะสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นตรงบริเวณศาลาบำเพ็ญกุศลในปัจจุบัน จึงได้มีการหล่อ พระประธาน เพื่อจะประดิษฐานในโบสถ์หลังใหม่ คือ หลวงพ่อดำ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเจ้าอาวาส ไปแล้วหลายองค์ก็ตาม ทั้งมรณะภาพไปบ้าง ย้ายไปจำวัดอื่นบ้าง เพราะแรงอภิหารของโบสถ์หลังเก่า หลวงพ่อดำจึงตั้งอยู่กลางแจ้งตากแดด ตากฝน มานานจนองค์ดำ ชาวบ้านที่เห็นจึงเรียกว่า "หลวงพ่อดำ" มาจนกระทั่งทุกวันนี้

จนมาถึงสมัยของ "พระครูสถิตธรรมสาคร" ท่านย้ายมาจากวัดท่ากระบือ ได้มารื้อโบสถ์ที่สร้างใหม่ออกและได้ซ่อมแซมโบสถ์มหาอุตม์หลัง เก่านี้ โดยการฉาบปูนใหม่ ทาสีใหม่ และดูแลรักษามาตลอด จนมาถึงการบูรณะครั้งหลังสุดที่หลวงพ่อชัยเป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบันนี้

อาจารย์ชัยยังกล่าวต่อไปถึงเรื่องโบสถ์มหาอุตม์ว่า ยังมีเรื่องเล่าลืออื่น ๆ อีก "สมัยก่อนที่วัดมีจระเข้อาศัยอยู่มากมายตามชายเลน มีบางคน บอกว่าใต้โบสถ์เป็นถ้ำจระเข้ เวลาเข้ามานอนในโบสถ์จะได้ยินเสียงปลาลิ้นหมาร้อง แต่ไม่มีใครยืนยันได้ จึงเป็นเพียงแต่เรื่องเล่าเท่านั้น แต่สมัยนี้มีคน เข้ามาอาศัยอยู่มาก ๆ จระเข้มันก็หายไปหมด"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

คลังบทความของบล็อก